- ประธานกรรมการบริษัท
สารจาก ประธานกรรมการบริษัท
สารจาก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
- ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
- ประธานกรรมการบริษัท
สารจาก ประธานกรรมการบริษัท
เรียน ท่านผู้ถือหุ้น บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน)
ในปี 2566 เศรษฐกิจทั้งภาครัฐและเอกชนมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน ภายหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID 19 มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างเป็นลำดับ แต่ในขณะเดียวกัน ปัจจัยใหม่ทางด้านการเมือง ภูมิรัฐศาสตร์ และการดำเนินนโยบายทางการเงินของประเทศต่าง ๆ สร้างความผันผวนให้กับเศรษฐกิจโลก และส่งผลให้ราคาพลังงานและอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ถึงกระนั้นก็ตาม บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของบริษัท โดยการใช้พลังงานหมุนเวียนไม่พึ่งพิงแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งมีภาวะผันผวน ถือเป็นเครื่องยืนยันถึงความสำเร็จของบริษัทที่มีวิสัยทัศน์มุ่งเน้นการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้บริษัทสามารถสร้างผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งได้ในสภาวะที่ราคาพลังงานมีความผันผวน
ด้วยเป้าหมายการเติบโต ด้านการลงทุนและพัฒนาพลังงานสะอาด เพื่อการวางรากฐานความมั่นคงทางพลังงาน ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ประเด็นเรื่องความยั่งยืนจึงถูกตั้งให้เป็นพันธกิจหลักและวัฒนธรรมองค์กรที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทมีเป้าหมายจะเป็นหนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีจำนวนเมกะวัตต์สะสมเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 เมกะวัตต์ ภายใน 5 ปี ด้วยงบลงทุน 45,000 ล้านบาท และมีคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กรที่ลดลง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593
บริษัทได้รับผลประเมินการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทย ประจำปี 2566 ระดับ 5 ดาว หรือ “ดีเลิศ” (Excellent CG Scoring) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 ซึ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า บริษัทมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีเยี่ยมต่อเนื่อง มีความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจเพื่อให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน
รวมถึง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกาศรายชื่อหุ้นยั่งยืน ประจำปี 2566 หรือ SET ESG Ratings เปลี่ยนชื่อจาก ‘หุ้นยั่งยืน THSI (Thailand Sustainability Investment) เป็นหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings’ เป็นปีแรก โดยบริษัทได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งในรายชื่อหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment) ต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 3 และได้รับการประเมิน SET ESG Ratings ในระดับ AA ในปี 2566 จากการประเมินความยั่งยืนที่ครอบคลุมในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่สำคัญในการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG โดยให้ความสำคัญต่อการรักษาสมดุลระหว่างการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม และการบริหารงานตามหลักบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance หรือ ESG) พร้อมรับมือต่อปัจจัยการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการสร้างการมีส่วนร่วมและตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มเพื่อเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน
รางวัลทั้งหมดนี้เปรียบเสมือนอีกก้าวแห่งความสำเร็จที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน จึงกล่าวได้ว่าในปีที่ผ่านมานี้ บริษัทสามารถบรรลุเป้าหมายและมีความก้าวหน้าในมิติที่สำคัญในเชิงกลยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเติบโต (Growth) การสร้างผลกำไร (Profitability) และการสร้างความยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งล้วนแต่เสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนในระยะยาว
ภายใต้วิสัยทัศน์ เป็นผู้นำด้านธุรกิจพลังงานทดแทน อุปกรณ์และระบบไฟฟ้าแบบครบวงจร ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้แข็งแกร่งอย่างยั่งยืน ตามปรัชญาของบริษัท ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในปี 2566 ถือเป็นช่วงที่บริษัทมีพัฒนาการสำคัญในทุกมิติ
ตลอดปี 2566 ความสำเร็จที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการเป็นบริษัทของคนไทยที่นำเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาดมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนด้วยการสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน และรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการพัฒนาไปพร้อมกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ ควบคู่กับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมผลักดันให้ทุกภาคส่วนเติบโตไปด้วยกันอย่าง มั่นคงและยั่งยืน
ในนามของบริษัท ผมขอขอบคุณคณะกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า พันธมิตรทางธุรกิจ ผู้ถือหุ้น สถาบันการเงิน หน่วยงานราชการ และรัฐวิสหากิจชุมชน ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความสำเร็จและความภาคภูมิใจแก่บริษัทเป็นอย่างสูง
ดร.กัลกุล ดำรงปิยวุฒิ์
ประธานกรรมการบริษัท
สารจาก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
เรียน ท่านผู้ถือหุ้น บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน)
- ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัทในฐานะหนึ่งในผู้นำในด้านธุรกิจพลังงานทดแทน อุปกรณ์และระบบไฟฟ้าครบวงจร ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย จึงได้ปรับกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อสอดรับกับเทรนด์ด้านพลังงานดังกล่าว ผ่านการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดทั้งจากภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย สามารถ เพิ่มกำลังการผลิตแตะระดับ 1,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2566 จากการได้รับคัดเลือกการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) เป็นจำนวนทั้งสิ้น 17 โครงการ กำลังการผลิตรวม 832.4 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็น การต่อยอดการเติบโตของบริษัทในอีก 3-7 ปี ข้างหน้า โดยปัจจุบัน บริษัทได้เข้าลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ระยะเวลา 25 ปี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับโครงการ Solar Farms รวม 8 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 429.6 เมกะวัตต์ มีกำหนดการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ระหว่างปี 2569 - 2573 ซึ่งเมื่อโครงการดังกล่าวสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ครบตามกำหนด จะส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาโดยรวม 1,045.15 เมกะวัตต์ จากเดิม 615.55 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มสูงขึ้นถึง 70% โดยการพัฒนาโครงการดังกล่าวข้างต้น เป็นไปตามแผนของบริษัทที่มุ่งเน้นการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนให้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ในปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,576.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.08% ส่วนรายได้รวมเท่ากับ 7,737.12 ล้านบาท จากผลประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ การผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงธุรกิจ EPC ที่มีการประมูลและทยอยรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่องจากทั้งภาครัฐและเอกชน
ในปี 2567 บริษัทมีเป้าหมายสร้างการเติบโตของรายได้และกำไรในทุกกลุ่มธุรกิจ เพื่อให้บริษัทเติบโตก้าวหน้า อย่างมั่นคง โดยดำเนินกลยุทธ์สอดรับกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกพลังงานและการส่งเสริมของภาครัฐ โดยการขยายการลงทุน เตรียมความพร้อม และเดินหน้าประมูลในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ร่วมกับบริษัทร่วมทุนและพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน และธุรกิจอื่น ๆ ในเครือที่จะได้รับผลประโยชน์และอานิสงค์ในการสร้างรายได้ จากการเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงานของโลก (Energy Transition) และจากโครงการ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศที่จะมีการขยายตัว เริ่มจัดซื้อจัดจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้า สถานี และ สั่งซื้ออุปกรณ์ในระบบไฟฟ้ามากขึ้นตามกำหนดการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในอีก 3-7 ปีข้างหน้า ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าเอกชน ขนาดใหญ่ งานสายเคเบิลใต้ทะเล งานนำสายไฟฟ้าลงดินและเสาสัญญาณในมือ (Backlog) แล้วกว่า 6,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน บริษัทยังคง เดินหน้าต่อยอดธุรกิจการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้กับผู้ประกอบการกลุ่มโรงงานและอุตสาหกรรมขนาดกลาง ในรูปแบบ Private PPA และ บริการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เจาะกลุ่มลูกค้าบ้านที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสวงหานวัตกรรมทางด้านพลังงานใหม่ ๆ ให้ทุกท่านสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ จากพลังงานสะอาดได้อย่างครอบคลุมมากขึ้นในอนาคต และตั้งเป้า 2,000 เมกะวัตต์ ในปี 2568
นอกจากความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจเพื่อก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในด้านธุรกิจพลังงานแล้ว บริษัทยังให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย สังคม สิ่งแวดล้อมและธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) อย่างจริงจัง พร้อมก้าวสู่สังคม คาร์บอนต่ำ เป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 โดยบริษัทได้รับรางวัลและการรับรองต่าง ๆ มากมาย เช่น การรับรองมาตรฐาน ISO 14064-1:2018 มาตรฐานการรายงานผลการปลดปล่อยและ ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในระดับองค์กร ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 รวมถึงได้รับการประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Rating ในระดับ AA และรางวัลองค์กร ต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชนในระดับดีเด่น เป็นต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการที่บริษัทมีการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ครอบคลุม มิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตลอดมา ดั่งแนวคิด “not only the energy, we care”
ในนามของคณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) กระผมขอขอบคุณท่านผู้ถือหุ้น ลูกค้า พันธมิตรทางธุรกิจ สถาบันการเงิน หน่วยงานราชการ ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกท่านที่เกี่ยวข้อง ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความสำเร็จและความภาคภูมิใจให้แก่บริษัทและได้ให้ความไว้วางใจ ความเชื่อมั่น และการสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัทด้วยดีเสมอมา ทั้งนี้ ขอให้มั่นใจว่าพวกเราทุกคนจะร่วมแรงร่วมใจ ดำเนินกิจการและพัฒนาบริษัทเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ให้บรรลุเป้าหมายของบริษัทต่อไป
ดร.สมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
ร่วมเดินทาง สู่อนาคตกับกันกุล
พลังงานเพื่อความยั่งยืน
ดำเนินธุรกิจผลิต และจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อันได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยกระดับการแก้ไขปัญหา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โดยมุ่งสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ ด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ เปิดโอกาสให้บริษัทและพันธมิตรทางธุรกิจ ก้าวข้ามขีดจำกัดของตน เป็นการเสริมศักยภาพในการขยายฐานลูกค้า นอกจากนี้ยังมี การจัดหาผลิตภัณฑ์เพื่อเติมเต็มความต้องการของแต่ละฝ่าย ให้บริการและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับพลังงานทางเลือกที่เหมาะสม รวมถึงแสวงหาช่องทางใหม่ ๆ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและก้าวไปสู่การเป็นผู้นำ ในอุตสาหกรรมพลังงานอย่างยั่งยืน
วิศวกรรม และ Turnkey
ให้บริการวิศวกรรม บำรุงรักษา จัดหา ติดตั้ง และก่อสร้าง แบบครบวงจร ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน สถานีไฟฟ้า ระบบสายส่ง ระบบไฟฟ้าลงดิน สายเคเบิ้ลใต้น้ำ ระบบไมโครกริด ระบบกักเก็บพลังงาน และระบบอุปกรณ์อัจฉริยะที่เกี่ยวข้อง
อุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูง
ดำเนินธุรกิจผลิต จัดหา และจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้า อุปกรณ์สำหรับสถานีไฟฟ้า รวมถึงระบบสายส่งไฟฟ้าแรงดันกลางถึงแรงดันสูง ขนาด 115 kV อุปกรณ์ระบบกราวด์ อุปกรณ์สำหรับระบบจำหน่ายสายส่งกำลังไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ส่องสว่าง และเครื่องมือช่างและอุปกรณ์ป้องกัน ส่วนบุคคลต่าง ๆ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ประหยัดพลังงาน และพลังงาน ทางเลือกทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ข้อมูลทางการเงินที่โดดเด่น รายได้สำคัญ ปี 2566
(หน่วย : ล้านบาท)
Market Cap.
รายได้รวม
สินทรัพย์รวม
EBITDA
ผลการดำเนินงานที่สำคัญของบริษัท ในปี 2566
พฤษภาคม
บริษัทจ่ายเงินสดปันผล สําหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยจ่ายเป็นเงินสดปันผลในอัตรา 0.06 บาทต่อหุ้น รวมเป็นเงินสดปันผลทั้งสิ้น ไม่เกิน 535,000,000.00 บาท ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2566
พฤศจิกายน
บริษัทอนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงิน ครั้งที่ 3
- วงเงินสูงสุดที่ใช้ในการซื้อหุ้นคืน ไม่เกิน 1,120,000,000.00 บาท
- จำนวนหุ้นที่จะซื้อคืน ไม่เกิน 380,000,000 หุ้น (คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 4.28 ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด)
- วิธีการในการซื้อหุ้นคืน ซื้อในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- กำหนดระยะเวลาที่จะซื้อหุ้นคืน วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2567
บริษัทจ่ายเงินสดปันผลระหว่างกาล สําหรับผลการดำเนินงานงวด 9 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 โดยจ่ายเป็นเงินสดปันผลในอัตรา 0.06 บาทต่อหุ้น รวมเป็นเงินสดปันผลทั้งสิ้น ไม่เกิน 535,000,000.00 บาท ในวันที่ 6 ธันวาคม 2566
ธันวาคม
กลุ่มบริษัทย่อยของบริษัท ได้แก่ บริษัท กันกุล โซลาร์ พาวเวอร์เจน จำกัด บริษัท กันกุล วัน เอ็นเนอร์ยี 2 จำกัด และบริษัท กันกุล วัน เอ็นเนอร์ยี 9 จำกัด ได้เข้าลงนาม ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เป็นระยะเวลา 25 ปี สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบ ติดตั้งบนพื้นดิน จำนวน 8 โครงการ มีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 429.6 เมกะวัตต์ ซึ่งกำหนดการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ระหว่างปี 2569 - 2573